ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร "วิค แอนด์ ฮุคลันด์" เป็น "BBB" จาก "A-" ด้วยแนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 3, 2005 08:51 —ทริส เรตติ้ง

        บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท วิค แอนด์ ฮุคลันด์ จำกัด (มหาชน) เป็น "BBB" จากเดิมที่ระดับ "A-" พร้อมแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมียอดขายที่ลดลงอย่างมาก รวมทั้งมีอัตรากำไรที่ลดต่ำลง และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่เพิ่มขึ้น  ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทซึ่งคาดว่าไม่น่าจะปรับลดลงไปมากกว่าในไตรมาสแรกของปี 2548 รวมถึงการที่บริษัทยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและด้านเทคนิคจากบริษัทแม่อย่างต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า อัตรากำไรของบริษัท วิค แอนด์ ฮุคลันด์ ที่ลดลงเป็นอย่างมากเนื่องมาจากราคาวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายคงที่ต่อหน่วยการผลิตของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น การขยายโรงงานในช่วงที่มีการผลิตลดต่ำลงทำให้ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% การที่บริษัทไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้ในสัดส่วนเดียวกับราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในและต่างประเทศทำให้อัตรากำไรของบริษัทลดต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการได้รับชำระค่าสินค้าที่ล่าช้าจากลูกค้าส่งผลให้บริษัทต้องกู้ยืมเงินระยะสั้นจำนวนมากเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2546 เป็น 58% ในไตรมาสแรกของปี 2548 ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบแก่บริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในตลาดท่อพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูงโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดระหว่าง 50%-60% ในปี 2547 นอกจากนี้ การที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและด้านเทคนิคจากบริษัทแม่คือ KWH Pipe Ltd. แห่งประเทศฟินแลนด์อย่างต่อเนื่องจะช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทได้ในระดับหนึ่ง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ยอดขายของบริษัทในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 มีจำนวน 3,493 ตัน ซึ่งเป็นระดับที่ไม่น่าพอใจ โดยคิดเป็นเพียง 28% และ 22% ของยอดขายรวมในปี 2547 และปี 2546 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาวัตถุดิบคือเม็ดพลาสติก HDPE มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าราคาจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 นอกจากนี้ ความล่าช้าในการชำระค่าสินค้าและการสั่งสินค้าจากลูกค้าส่งผลให้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยในการได้รับชำระเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 192 วันในปี 2547 เป็น 239 วันในไตรมาสแรกของปี 2548 รวมถึงมูลค่าของสินค้าคงเหลือได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 132 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 293 ล้านบาทในปี 2547 และ 346 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2548 โดยมูลค่าของสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาและปริมาณวัตถุดิบคงเหลือคือเม็ดพลาสติก HDPE ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งมอบสินค้าที่ล่าช้าก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นที่จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น - จบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ