ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่ “ธ. ทหารไทย” ที่ระดับ “A”

ข่าวทั่วไป Tuesday March 16, 2010 10:30 —ทริส เรตติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารที่ระดับ “A” และ “BBB+” ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาทของธนาคารที่ระดับ “A+” ด้วย ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ด้อยสิทธิสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและการสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคาร ING Bank N.V. ซึ่งมีฐานะเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารกิจการของธนาคารและช่วยเสริมสถานะทางการเงินและการดำเนินงานของธนาคารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยธนาคารได้รับประโยชน์ด้านความรู้ความชำนาญจาก ING Bank เกี่ยวกับระบบบริหารความเสี่ยง รวมทั้งด้านจุดแข็งของธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย ประกันภัย และบริการด้านบริหารสินทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตของธนาคารในอนาคต ธนาคารยังมีเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับผลขาดทุนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงในอนาคตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับค่อนข้างสูง ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ยังอ่อนแอ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและภาวะการเงินทั่วโลกซึ่งอาจจำกัดการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

อันดับเครดิต “BBB+” ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารสะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน ไม่สะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสามารถไถ่ถอนโดยธนาคารได้หลังจาก 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร และไถ่ถอนได้ทุกๆ 6 เดือนหลังจากนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร โดยธนาคารจะไม่มีภาระผูกพันในการจ่ายดอกเบี้ยในกรณีที่ธนาคารมีผลขาดทุนในรอบบัญชีก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้ การไม่จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคาร

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าธนาคารจะปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องให้ดีขึ้นได้ในระยะปานกลาง การสนับสนุนจาก ING Bank คาดว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบและระเบียบปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างรายได้ที่แน่นอนให้แก่ธนาคารในระยะปานกลาง

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทย ณ เดือนธันวาคม 2552 ประกอบด้วยกลุ่ม ING Bank และกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 30.1% และ 26.1% ของหุ้นทั้งหมดตามลำดับ คณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารได้รับการแต่งตั้งและทำหน้าที่เมื่อเดือนมีนาคม 2552 โดยคณะผู้บริหารทั้งหมดเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในวงการธนาคารและล้วนมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารระดับอาวุโสจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มาก่อน การดำเนินงานของธนาคารได้ผ่านระยะที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงของการปรับโครงสร้างองค์กรระหว่างปี 2551-2552 และปัจจุบันกำลังอยู่ในระยะที่ 2 ระหว่างปี 2553-2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เน้นความต้องการของลูกค้า (Customer Centric) โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ส่วนภารกิจสำคัญในปี 2553-2554 คือการสร้างความเป็นเลิศในการให้บริการและปฎิบัติการ การขยายผลิตภัณฑ์ และการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เครือข่ายสาขาและช่องทางธุรกิจ ในขณะที่การดำเนินงานทั้งในด้านธุรกิจและการเงินให้บรรลุตามแผนนั้นยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ คณะผู้บริหารยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งขยายฐานสินทรัพย์ที่สร้างกำไร และตรึงฐานเงินทุนให้คงที่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในอนาคตณ เดือนธันวาคม 2552 ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของไทยในด้านขนาดสินทรัพย์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อ 6% และเงินฝาก 7% ขนาดสินทรัพย์ตามงบการเงินรวมของธนาคารมีจำนวน 543,653 ล้านบาท ลดลง 9.6% จาก 601,985 ล้านบาทในปี 2551 ธนาคารรายงานผลกำไรสุทธิ 2,044 ล้านบาทในปี 2552 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 424 ล้านบาทในปี 2551 ในปี 2552 ธนาคารมีกำไรพิเศษจำนวน 3,256 ล้านบาทจากการซื้อคืนตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนและจากการยกเลิกสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยก่อนกำหนด โดยธนาคารนำกำไรที่ได้ดังกล่าวไปใช้ตั้งสำรองทั่วไปเพิ่มเติม ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารมีแรงกดดันจากการลดลงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเป็น 2.05% ในปี 2553 จาก 2.34% ในปี 2552 รวมทั้งจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในโครงการปรับโครงสร้างบุคลากรและจากการขาดทุนจากการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและสินทรัพย์อื่น

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์และสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คงค้างมาจากอดีต ธนาคารทหารไทยจึงขายสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวนประมาณ 15,000 ล้านบาทและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวน 4,300 ล้านบาทให้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพ จำกัด (บสก.) ในเดือนพฤษภาคม 2552 ทำให้อัตราส่วนสินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารปรับลดลงเป็น 12.75% ณ สิ้นปี 2552 จากระดับ 16.24% ในปี 2551 ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมก็ลดลงเป็น 12.42% ในปี 2552 จาก 13.95% ในปี 2551 แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบทั้ง 12 แห่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.9% อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมีเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพียงพอเมื่อเทียบกับหนี้เสียดังกล่าว ณ เดือนธันวาคม 2552 ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน รวมยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 0.8 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (ลดลงจาก 0.9 เท่าในปี 2551) ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ในปี 2553 ธนาคารมีแผนจะขายหนี้เสียอีกจำนวนประมาณ 8,000 ล้านบาทและจะขยายสินเชื่อที่มีคุณภาพให้มากขึ้นเพื่อที่จะลดอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้เป็นตัวเลขหลักเดียว

ในด้านของหนี้สินนั้น ธนาคารประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างฐานเงินทุนให้กระจายไปสู่แหล่งเงินทุนที่แน่นอนและต้นทุนต่ำ เงินฝากเผื่อเรียกและออมทรัพย์ของธนาคารมีสัดส่วน 50% ของเงินฝากรวมในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 39% ในปี 2551 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 แห่ง ธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพื่อใช้ขยายธุรกิจและรองรับความสูญเสียที่ไม่อาจคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในระยะปานกลาง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 7.48% ในปี 2551 เป็น 8.69% ในปี 2552 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงก็เพิ่มขึ้นจาก 16.81% เป็น 17.03% การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 มูลค่า 4,000 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2552 ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระดับเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ของธนาคาร ในขณะเดียวกัน ธนาคารมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาทไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดเดิมมูลค่า 4,905 ล้านบาท (TMB153A) และใช้เพิ่มในเงินกองทุนชั้นที่ 2 ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ

หมายเหตุ:  ธนาคารทหารไทยถือหุ้น 15.30% ใน บริษัท ทริสคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทริส) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้น 99.99% ในทริสเรทติ้ง

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB)
อันดับเครดิตองค์กร:	                                                            คงเดิมที่ A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TMB153A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 	                        คงเดิมที่ A
TMB19NA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 5,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 	                        คงเดิมที่ A
หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน ในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563               	          A
TMB09PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1   4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2652     คงเดิมที่ BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต:	                                                           Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2553 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต  ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ   แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ  ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน  บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงมิได้รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้น ผลที่ได้รับ หรือการกระทำใดๆ โดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ