ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ใหม่ “บ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ “A” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวทั่วไป Thursday April 29, 2010 08:18 —ทริส เรตติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความหลากหลายของธุรกิจที่มีแบรนด์สินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับซึ่งช่วยเสริมให้บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในธุรกิจโรงแรมธุรกิจอาหารบริการด่วน และธุรกิจค้าปลีก รวมถึงการมีคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ การเติบโตของธุรกิจโรงแรมและการบริหารโรงแรมในต่างประเทศ และโอกาสในการขยายธุรกิจอาหารบริการด่วนผ่านแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยหลากหลายที่กระทบในทางลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย ตลอดจนลักษณะการแข่งขันที่รุนแรงและอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจค้าปลีก โดยความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมจะเป็นแรงกดดันในการประกอบธุรกิจของบริษัทในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทต้องเพิ่มภาระหนี้สินเพื่อลงทุนในโรงแรมใหม่ ดังนั้น การลงทุนใดใดที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากโครงการในปัจจุบันซึ่งอาจทำให้บริษัทต้องเพิ่มภาระหนี้สินอย่างมีนัยสำคัญจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเอาไว้ได้ ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินงานและการลงทุนในโครงการปัจจุบันด้วยกระแสเงินสดบางส่วน ทั้งนี้ การเพิ่มภาระหนี้สินในสภาวะการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงอาจส่งผลให้สถานภาพเครดิตโดยรวมของบริษัทมีความเสี่ยงมากขึ้น

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลก่อตั้งโดย Mr. William Ellwood Heinecke ในปี 2521 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย โดยตระกูล Heinecke เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 28% บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายกิจการโรงแรมอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีโรงแรมกระจายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 30 แห่ง ด้วยห้องพักรวมกว่า 3,500 ห้อง และตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม โรงแรมเหล่านี้บริหารและดำเนินงานภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Mariott และ Four Seasons และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara Elewana และ Naladhu ธุรกิจอาหารบริการด่วนของกลุ่มไมเนอร์ดำเนินการภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 และเป็นผู้ให้บริการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย MFG เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศมากถึง 4 แบรนด์ ได้แก่ สเวนเซ่นส์ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง รวมทั้งเดอะ พิซซ่า คอมปะนี เดอะค็อฟฟีคลับ และไทยเอ็กเพรส ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของบริษัทเอง โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 MFG มีร้านอาหารเปิดให้บริการรวม 682 แห่ง ตลอดจนร้านแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ย่อยอีกประมาณ 430 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงกลางปี 2552 บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและรวมกิจการของ บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MINOR) ซึ่งประกอบด้วย แฟชั่น เครื่องสำอาง และโรงงานรับจ้างผลิตเข้ามาอยู่ภายใต้เครือของบริษัทโดยมีแบรนด์สินค้าที่สำคัญ อาทิ Gap, Esprit, Bossini, Red Earth และ Bloom

ปี 2552 บริษัทมีรายได้ที่ไม่รวมเงินปันผลและรายได้อื่นๆ จำนวน 16,460 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 4% โดยเป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 31% ธุรกิจอาหารบริการด่วน 58% และธุรกิจค้าปลีก 8% การเพิ่มขึ้นของรายได้รวมเป็นผลจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วน 13% และการรวมธุรกิจค้าปลีก โดยสัดส่วนรายได้จากธุรกิจค้าปลีกน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2553 เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้เต็มปี ผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้รายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทลดลง 19% จากปีก่อน อัตราการเข้าพักรวมของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของลดลงจาก 65% ในปี 2551 เหลือ 56% ในปี 2552 อีกทั้งอัตราค่าห้องพักต่อคืนและรายได้ต่อห้องพักก็ลดลง 10% และ 23% ตามลำดับ การลดลงของรายได้ต่อห้องพักสะท้อนถึงการลดลงของอุปสงค์ในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและการเมืองภายในประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพอันกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ส่วนธุรกิจอาหารบริการด่วนซึ่งนอกจากบริษัทจะให้ความสำคัญกับการขยายกิจการโดยการเปิดสาขาและให้แฟรนไชส์แล้วนั้น บริษัทยังซื้อกิจการของแบรนด์อื่นเพิ่มด้วย เช่น การลงทุนในกิจการเดอะค็อฟฟีคลับ ในปี 2550 และไทยเอ็กเพรสในปี 2551 จำนวนร้านอาหารของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 676 สาขาในปลายปี 2550 เป็น 1,043 สาขาในปลายปี 2552 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนในเดอะค็อฟฟีคลับ และเพิ่มต่อเนื่องเป็น 1,112 สาขา ณ สิ้นปี 2552 สำหรับความสามารถในการทำกำไรนั้น แม้ในปี 2552 ธุรกิจโรงแรมจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลง 27% แต่ก็ยังคงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุดของกลุ่มโดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคิดเป็น 44% ของทั้งหมด ตามด้วยธุรกิจอาหารบริการด่วนคิดเป็น 39%

ทริสเรทติ้งรายงานถึงอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทโดยรวมว่าลดลงจาก 23% ในปี 2551 เป็น 18.3% ในปี 2552 เนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีอัตรากำไรลดลงและมีการรวมธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีอัตรากำไรต่ำ เป็นผลทำให้เงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2552 ลดลง 12% เหลือ 2,904 ล้านบาท จาก 3,315 ล้านบาทในปี 2551 การกระจายตัวและพื้นที่ตั้งของธุรกิจช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแข็งแรง สภาพคล่องอ่อนตัวลงจากปีก่อนแต่ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงเพียง 8.2 เท่าในปี 2552 จาก 11 เท่าในปี 2551 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเหลือ 22.1% ในปี 2552 จาก 31.9% ในปีก่อน ภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวสูงขึ้นเป็น 52.2% ในปี 2552 เมื่อเทียบกับระดับที่ต่ำกว่า 50% ในช่วงปี 2549-2551 ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงแรมใหม่ 2 แห่ง เมื่อรวมกับแผนการขยายสาขาของธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีกแล้วทำให้บริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาทในช่วงปี 2553-2554 แม้ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทใช้กระแสเงินสดบางส่วนในการลงทุนดังกล่าว แต่ภาระหนี้สินของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนอื่นๆ นอกจากแผนงานในปัจจุบันซึ่งอาจทำให้บริษัทต้องเพิ่มภาระหนี้อย่างมีนัยสำคัญนั้นอาจทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอยิ่งขึ้นและอาจมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเริ่มฟื้นตัวเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2553 หลังจากที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไป 3% ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทย อีกทั้งการประกาศ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลยังกระตุ้นให้ชาติทั่วโลกกว่า 40 ประเทศออกประกาศเตือนประชาชนของตนในการเดินทางมาประเทศไทย ภาวะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยหลังจากนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ การชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจในบริเวณพื้นที่โดยรอบอย่างมากซึ่งรวมถึงธุรกิจอาหารบริการด่วนและห้างสรรพสินค้าด้วย โดยบริษัทนั้นได้รับผลกระทบในธุรกิจหลักทั้ง 3 ประเภทซึ่งได้แก่ ธุรกิจโรงแรม อาหาร และค้าปลีกในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าความเสียหายในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างธุรกิจโดยรวมและจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินของบริษัท — จบ

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT)
อันดับเครดิตองค์กร:	                            คงเดิมที่ A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MINT105A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553	คงเดิมที่ A
MINT10DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553	คงเดิมที่ A
MINT11OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554	คงเดิมที่ A
MINT129A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,840 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555	คงเดิมที่ A
MINT137A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556	คงเดิมที่ A
MINT149A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,060 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557	คงเดิมที่ A
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2558	A
แนวโน้มอันดับเครดิต:	                            Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2553 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต  ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ   แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ  ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน  บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงมิได้รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้น ผลที่ได้รับ หรือการกระทำใดๆ โดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ