ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “บ. เซ็นทรัลพัฒนา” ที่ “A+”ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวทั่วไป Tuesday August 31, 2010 07:37 —ทริส เรตติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้า ตลอดจนผลงานในการบริหารศูนย์การค้าคุณภาพสูง กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ และนโยบายทางการเงินที่มีความระมัดระวัง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อใช้รองรับแผนการขยายงานในช่วง 3 ปีข้างหน้า และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาสถานภาพที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจบริหารศูนย์การค้า ทั้งนี้ การเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าหลายแห่ง รวมทั้งความยืดหยุ่นในการบริหารเงินลงทุน และการสนับสนุนที่ดีจากผู้ถือหุ้นจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตซึ่งอาจกระทบต่อการดำเนินงานไปได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโดยมีตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 32% รองลงมาคือ บริษัท เซ็นทรัล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของไทย (27%) การเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นร้านค้าหลักภายในศูนย์การค้าของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2553 บริษัทเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าจำนวน 14 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญโดยมีพื้นที่ค้าปลีกรวม 779,211 ตารางเมตร (ตร.ม.) อย่างไรก็ตาม หากรวมพื้นที่ค้าปลีกของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ซึ่งปิดให้บริการชั่วคราวด้วยนั้น พื้นที่ค้าปลีกรวมของบริษัทจะอยู่ที่ 966,239 ตร.ม. พื้นที่ค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ ที่บริหารงานโดยบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.1% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการขยายตัวของพื้นที่ค้าปลีกรวมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6% ต่อปี บริษัทคงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารศูนย์การค้าในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยหากเปรียบเทียบพื้นที่ค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 22% ณ เดือนมิถุนายน 2553 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากศูนย์การค้าที่บริษัทเปิดใหม่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตต่างจังหวัด

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทเซ็นทรัลพัฒนามีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งด้วยอัตราการเช่าพื้นที่ในระดับสูงและรายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าสาขาเดิมที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ณ เดือนมีนาคม 2553 บริษัทมีอัตราการเช่าศูนย์การค้าทั้ง 15 แห่งโดยเฉลี่ยที่ระดับ 96% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.4% แม้จะเปิดตัวในช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 2552 แต่ศูนย์การค้าใหม่ทั้ง 3 แห่งของบริษัทอันประกอบด้วยศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช เซ็นทรัลพลาซา ชลบุรี และเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ยังคงสามารถมีอัตราการเช่าพื้นที่ที่ระดับ 90% ได้

การชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อและรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสี่แยกราชประสงค์ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของการชุมนุม เซ็นทรัลเวิลด์เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทและมีพื้นที่ค้าปลีกถึง 187,028 ตร.ม. บริษัทปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 และต่อมาศูนย์การค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายบางส่วนจากเพลิงไหม้ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีการประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไว้ไม่เกิน 3,500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าวงเงินประกันภัยที่บริษัทได้ทำไว้จะครอบคลุมมูลค่าความเสียหายได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ บริษัทได้ทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด รวมทั้งประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก และประกันภัยการก่อการร้ายเอาไว้แล้ว ขณะนี้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์อยู่ระหว่างการปิดเพื่อการซ่อมแซมและคาดว่าพื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2553 สำหรับห้างสรรพสินค้าเซ็นซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยตระกูลจิราธิวัฒน์นั้นคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 และเพื่อเป็นการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริษัทจึงได้เลื่อนแผนการปิดปรับปรุงศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าวออกไปเป็นไตรมาสที่ 1 ของปี 2554

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทเซ็นทรัลพัฒนามีรายได้ค่าเช่าและบริการจำนวน 4,900 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลงจากการปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และการโอนสินทรัพย์ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้าให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปี 2552 อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าเช่าจากศูนย์การค้าใหม่ 3 แห่งที่เปิดในปี 2552 และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานีที่บริษัทซื้อกิจการมาเมื่อปี 2552 ช่วยลดผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

บริษัทประสบความสำเร็จในการโอนสินทรัพย์ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้าให้แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNRF) ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 52.26% ในปี 2551 เป็น 48.55% ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ณ เดือนมิถุนายน 2553 อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50.71% และบริษัทมีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 19,511 ล้านบาทเนื่องจากมีความต้องการเงินลงทุนต่อเนื่องในปี 2553 ประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งรวมเงินลงทุนในการขยายงานใหม่และการปรับปรุงศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สำหรับแผนการพัฒนาโครงการระหว่างปี 2554-2556 นั้น บริษัทมีความต้องการใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000-9,500 ล้านบาทต่อปี โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รวมทั้งจากการกู้ยืม และการให้เช่าสินทรัพย์แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1 เท่าตามนโยบายของบริษัท — จบ

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN)
อันดับเครดิตองค์กร:		                            คงเดิมที่ A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CPN10DA:  หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553		คงเดิมที่ A+
CPN119A:  หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554		คงเดิมที่ A+
CPN126A:  หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555		คงเดิมที่ A+
CPN135A:  หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556		คงเดิมที่ A+
CPN136A:  หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556		คงเดิมที่ A+
CPN145A:  หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557		คงเดิมที่ A+
แนวโน้มอันดับเครดิต:		                            Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2553  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัด
อันดับเครดิต  ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆ โดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating_information/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ