Media Talk: เจ้าพ่อการตลาดเฟซบุ๊กเผยเคล็ดลับทำเพจให้ปัง ชี้ใช้ฟีเจอร์ให้คุ้ม หมั่นพัฒนาคอนเทนต์

ข่าวทั่วไป Friday August 9, 2019 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทุกวันนี้ เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทยที่มีผู้ใช้งานมากติดอันดับโลกไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ หันมาสนใจเปิดเพจเพื่อประชาสัมพันธ์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า บริษัทผู้ให้บริการ สำนักข่าว หรือไปจนถึงเหล่าคนดัง โดยรายงาน Social Marketing Report Thailand เดือนก.ค. จาก Socialbakers ผู้นำด้านการตลาดโซเชียลมีเดีย ได้จัดอันดับ 5 อุตสาหกรรมที่มียอดผู้ติดตามเฟซบุ๊กเพจมากที่สุดในไทย จากการรวบรวมตัวเลขผู้ติดตาม 200 เพจที่ใหญ่ที่สุด พบว่า เพจอันดับหนึ่งได้แก่ เพจภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตามมาด้วยภาคค้าปลีก บริการ การเงิน และความงาม ซึ่งเพจอันดับหนึ่งอย่างอีคอมเมิร์ซนั้นมียอดผู้ติดตามรวมกันกว่า 63 ล้านคน

เมื่อเฟซบุ๊กเพจมีมากมายเช่นนี้ ประกอบกับนโยบายของเฟซบุ๊กในการลดการมองเห็น (Reach) ที่นับวันยิ่งเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อดันคอนเทนต์ในเพจของเราให้อยู่ในสายตาผู้ติดตามมากขึ้น พบกับเคล็ดลับเหล่านี้ได้จาก"หนึ่ง" ธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์ 1 ใน 10 CEO คนไทยที่ได้เป็น Facebook Alpha Tester ซึ่งเฟซบุ๊กได้ชวนมาให้ทดลองเครื่องมือใหม่ ๆ ก่อนใคร และเจ้าของเพจ Small World For Kids ที่มียอดผู้ติดตามเกือบ 3.7 แสนคน ซึ่งทุ่มงบยิงโฆษณากับเฟซบุ๊กมาแล้วถึง 7.4 ล้านบาทในระยะเวลา 7 ปี

*หน้าบ้านต้องเรียบร้อย สร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ

คุณหนึ่ง เปิดเผยว่า หน้าบ้าน หรือสิ่งที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กเห็นเป็นอย่างแรกเมื่อเข้าเพจเรานั้น ต้องมีความสวยงามเรียบร้อยเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเพจ โดยควรทำภาพ Profile และ Cover ให้สอดคล้องกับฟอร์แมตของเฟซบุ๊ก ขณะที่ภาพ Cover นั้น ควรชูจุดเด่นของบริษัทเพียงอย่างเดียว อย่าจับหลาย ๆ สิ่งมายำรวมกันทั้งหมด เช่น ถ้าเป็นธุรกิจขายของก็ควรชูรูปภาพสินค้าขายดีขึ้น Cover และทำให้สวยงาม

นอกเหนือจากภาพประกอบเพจแล้ว ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับชื่อเพจ และ username ของเพจ (อยู่ใต้ชื่อเพจ ขึ้นต้นด้วย @) คุณหนึ่งแนะนำว่า ชื่อเพจจะเป็นชื่อบริษัทใน 2 ภาษาเลยก็ได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็น ขณะที่ username ก็ควรสอดคล้องกับชื่อเพจ และใช้ตัวพิมพ์ใหญ่พิมพ์เล็กได้เพื่อให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กอ่านได้ง่ายขึ้น และเมื่อต้องการแชร์เพจของตนเองแล้ว ควรแชร์ username ของเพจมากกว่า เพื่อให้เข้าเพจได้ถูกต้อง ในกรณีที่ชื่อเพจอาจจะไปคล้ายกับเพจอื่น

และอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามคือการ verify เพจของตนว่าเป็นของจริง ซึ่งสังเกตได้จากเครื่องหมายติ๊กถูกข้าง ๆ ชื่อเพจ เฟซบุ๊กจะให้เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้ากับเพจของบุคคลสาธารณะ บริษัทสื่อ หรือแบรนด์ ขณะที่เครื่องหมายถูกสีเทาให้กับเพจของบริษัทหรือองค์กร โดยเจ้าของเพจสามารถยื่นเรื่องขอการยืนยันได้ในเมนูการตั้งค่า และเฟซบุ๊กจะขอเอกสารบางอย่างเพื่อใช้ดำเนินการ แม้เรื่องนี้จะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่คุณหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่าเคยเกิดกรณีเพจปลอมชิง verify เพจกับเฟซบุ๊กจนได้เครื่องหมายถูกมาแล้ว สิ่งนี้ทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเชื่อว่าเพจปลอมดังกล่าวเป็นเพจจริง และหันไปกดติดตามเพจปลอมนั้นแทน จนมียอดผู้ติดตามนำเพจจริงไปสักระยะหนึ่งกว่าคนจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเพจปลอม

*อย่ายึดติดกับแพลตฟอร์มเดียว ควรโปรโมทตัวเองหลายช่องทางเพื่อดักลูกค้าให้ได้มากที่สุด

แม้การบรรยายครั้งนี้เน้นเรื่องเฟซบุ๊กเพจเป็นหลัก แต่คุณหนึ่งก็ได้ให้คำแนะนำว่า ธุรกิจไม่ควรยึดติดกับแพลตฟอร์มเดียว ควรโปรโมทตัวเองในช่องทางอื่น ๆ ด้วย เช่น อินสตาแกรม ไลน์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ และหากเป็นธุรกิจค้าขายก็อย่าลืมพ่วง Lazada กับShopee เข้าไปด้วย ซึ่งแม้จะดูเยอะแยะแต่จริง ๆ แล้วเราเลือกโฟกัสแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งก็ได้

ส่วนเหตุผลที่ควรทำให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นั้น มีเป้าหมายเพื่อที่จะดัก Customer Journey ของลูกค้าทุกคน เพราะลูกค้าแต่ละรายใช้แพลตฟอร์มแต่ประเภทมากน้อยไม่เท่ากัน บางคนใช้เฟซบุ๊กเยอะ บางคนใช้ไลน์เยอะ และควรเลือกโฟกัสแพลตฟอร์มที่เหมาะกับธุรกิจตนเองมากที่สุด เช่น ถ้าขายของก็ควรเน้นเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ถ้าเป็นสำนักข่าวก็เน้นเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

*หมั่นเช็คหลังบ้านอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาคอนเทนต์และ Boost ให้ได้ผลที่สุด

อีกคำแนะนำหนึ่งที่เจ้าของเพจนำไปใช้ได้ทุกคนคือการส่องข้อมูลเชิงลึกของเพจ หรือ Insight เพื่อเช็คข้อมูลการมีส่วนร่วมของผู้ติดตามเพจ (Engagement) โดยข้อมูลการมีส่วนร่วมที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่ยอดไลก์ คอมเมนต์ และแชร์ เหมือนกับที่หลาย ๆ คนเข้าใจเพียงเท่านั้น แต่เฟซบุ๊กยังเก็บข้อมูลลงลึกถึงจำนวนกดดูโพสต์ ดูภาพ กดเข้าลิงก์ กดอ่านต่อ ไปจนถึงข้อมูลการเข้าถึง (Reach) ที่คอยบอกเราว่าโพสต์นี้มีคนเห็นกี่คนแล้ว นอกจากนี้ คุณหนึ่งแนะนำให้เจ้าของเพจหมั่นเช็คที่แถบ Negative Feedback ด้วยว่ามีคนกดซ่อนโพสต์หรือกดรีพอร์ตเราหรือไม่ เพราะเมื่อมีความเคลื่อนไหวเหล่านี้มากขึ้นแล้ว เฟซบุ๊กจะคิดค่ายิงโฆษณาแพงขึ้น ในข้อหาที่เรายิงโฆษณาไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายจนสร้างความรำคาญ

ในส่วนของการโพสต์นั้น คุณหนึ่งแนะนำว่า ควรโพสต์เป็นประจำทุกวัน และโพสต์ก่อนช่วงเวลา Peak สักครึ่งชั่วโมง ซึ่งช่วงเวลา Peak นี้ก็ดูได้จากเมนูข้อมูลเชิงลึกเช่นกัน และหากเป็นการไลฟ์วิดีโอแล้ว ควรไลฟ์ตอนดึก ๆ เพราะเป็นช่วงที่คนกดดูวิดีโอมากที่สุด หากเจ้าของเพจอยากลอง Boost โพสต์ดูแล้ว คุณหนึ่งแนะนำให้ดูว่าโพสต์ใดมี Organic Reach มากที่สุด เพราะสิ่งนี้ช่วยให้เรารู้ว่าโพสต์ใดมีคุณภาพ โดยควรโพสต์หน้า Feed ก่อนดูข้อมูลหลังบ้านสัก 2 วัน แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะ Boost อย่างไร หรือถ้าไม่อยากเสียเงินค่า Boost แล้ว ควรดูว่าโพสต์ที่มียอด Organic Reach สูงนั้นมีคีย์เวิร์ดอะไรบ้าง และพยายามใช้คีย์เวิร์ดนั้นในการโพสต์ครั้งต่อ ๆ ไป

*ทิปส์เล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยดัน Engagement รับยุค Mobile First

ในฐานะที่เป็นเจ้าของเพจขายของเล่นเด็กที่ต้องโพสต์ข้อความและภาพเพื่อเชิญชวนให้ซื้ออยู่ตลอดเวลา คุณหนึ่งแนะนำว่า เวลาโพสต์ภาพนั้น พยายามโพสต์ทีละ 4 ภาพ เพราะถ้ามากกว่านั้นภาพท้ายสุดจะถูกบังด้วยเครื่องหมาย + โดยภาพแรกควรเป็นภาพแนวนอนและสวยที่สุด หากต้องการโพสต์ภาพมากกว่า 4 ภาพจริง ๆ แล้ว ลองโพสต์ภาพเหล่านั้นลงในช่องคอมเมนต์ เพราะคนไทยชอบกดอ่านคอมเมนต์ ทั้งยังเป็นการดัน Engagement ไปในตัว เพราะ AI ของเฟซบุ๊กชอบการคอมเมนต์และแชร์ และจะดันโพสต์ให้ปรากฏในหน้า Feed เรื่อย ๆ โดยคุณหนึ่งได้ยกตัวอย่างของเพจที่ชอบโพสต์ภาพลงในช่องคอมเมนต์และได้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจอย่างเพจ SALE HERE และเพจปันโปร – Punpromotion

นอกเหนือจากจำนวนภาพแล้ว คุณภาพของภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยคุณหนึ่งเล่าให้ฟังว่า AI ของเฟซบุ๊ก "ชอบ" ภาพจากกล้อง DSLR และกล้อง Mirrorless หรือหากใช้กล้องมือถือแล้ว ควรใช้ฟังก์ชั่น Portrait หรือ Live Focus ถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ รวมถึงการถ่ายภาพโหมด Macro และอาจใช้ฟิลเตอร์แต่งสีเสริมเข้าไปด้วย

ในส่วนของข้อความ คุณหนึ่งได้ยกกรณีของเพจสำนักข่าว THE STANDARD ที่ใช้เครื่องหมายจุด . เพิ่มลูกเล่นในการแบ่งย่อหน้าให้ดูน่าอ่านยิ่งขึ้น และยังได้ยกตัวอย่างของเพจ Roundfinger หรือนิ้วกลม ที่โพสต์ข้อความแบบ 1 ประโยค 1 บรรทัด โดยการโพสต์ลักษณะนี้อาจดูแปลก ๆ เมื่อดูผ่านคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อเปิดดูบนมือถือที่จอเล็กกว่าแล้วจะพบว่าข้อความเดียวกันนี้อ่านง่ายขึ้น ซึ่งเป็นเคล็ดลับเล็ก ๆ ที่ทุกคนนำไปใช้ได้เพื่อให้รับกับยุค Mobile First ที่ทุกคนยกมือถือขึ้นมาดูก่อนเปิดคอมพ์ ท้ายที่สุด อย่าลืมใส่แฮชแท็กท้ายโพสต์ และควรคิดค้นแฮชแท็กที่บ่งบอก Character ของตนเอง ไม่ใช้แฮชแท็กที่เป็นคำโหล ๆ ทั่วไป เพื่อให้เราสามารถเชื่อมต่อทุกช่องทางเข้าด้วยกัน

*ส่องเครื่องมือการตลาดสุดล้ำของเฟซบุ๊กในไทย

นอกเหนือจากการเป็นเจ้าของเพจที่ประสบความสำเร็จแล้ว คุณหนึ่งยังเป็น 1 ใน 10 CEO คนไทยที่ได้เป็น Facebook Alpha Tester ซึ่งเฟซบุ๊กเป็นฝ่ายเลือกเองเพราะมองเห็นศักยภาพ ทำให้คุณหนึ่งได้เข้ามาทดลองเครื่องมือใหม่ ๆ ของเฟซบุ๊กก่อนที่จะเปิดให้บริการจริงในไทย คุณหนึ่งเปิดเผยว่า เฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยจัดอันดับให้ไทยอยู่ใน Tier 1 เรื่อง Conversational Commerce หรือการขายผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะมีไม่กี่ประเทศที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กแชทคุยกับคนแปลกหน้าและกล้าโอนเงินให้แม้ไม่ได้รู้จักตัวตนจริง ๆ

เครื่องมือที่คุณหนึ่งได้มีส่วนร่วมให้ฟีดแบคและภูมิใจนำเสนอคือฟีเจอร์ request payment ที่เริ่มมีการใช้งานในไทยแล้ว ฟีเจอร์นี้ช่วยให้ลูกค้าแชทกับพ่อค้าแม่ค้าผ่าน Messenger ยืนยันออเดอร์ ชำระเงิน และแจ้งการชำระเงินได้โดยไม่ต้องกดออกจากแอปแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ปิดการขายได้เร็วและลูกค้าสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ส่วนอีกเครื่องมือหนึ่งที่เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาและน่าสนใจ คือ ฟีเจอร์ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ใช้งานที่เฟซบุ๊กเก็บไว้อยู่แล้ว โดยคุณหนึ่งได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ในอนาคตอาจมีเพจส่งโปรโมชันวันเกิดมาให้เราในอินบ็อกซ์ก็ได้ ทั้งยังมีการพัฒนาฟีเจอร์ Broadcast ข้อความในลักษณะคล้าย ๆ ที่มีอยู่ในไลน์ ตลอดจนเครื่องมือยิงโฆษณาเจาะกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการเราแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ