กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.ดังกมล ณ ป้อมเพชร อาจารย์หัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร ผู้ฝากผลงานละครเวทีไว้มากมายอย่าง สัต(ว์)บุรุษสุดขอบโลก นางฟ้านิรนาม และสยามนิรมิต และในปี 2555 นี้ "สยามมิสฉัน เดอะ มิวสิเคิล" ยังเป็นอีกหนึ่งผลงานใหม่ของอาจารย์ที่น่าติดตามอีกเช่นเคย ซึ่งในครั้งนี้อาจารย์เป็นถึงสองบทบาทด้วยกัน ได้แก่ ผู้สร้างบทและกำกับการแสดง หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าละครเวทีเรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้อาจารย์ให้เกียรติมาให้สัมภาษณ์กับเราแล้วค่ะ
ละครเวทีเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยการสร้างสรรค์ละครเพลง โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไรบ้างคะ
ครูลุค(ร.ศ.จารุณี หงส์จารุ) หัวหน้าโครงการวิจัยการสร้างละครเพลงของภาควิชาศิลปการละคร อักษรฯ จุฬาฯ ได้ชวนทำละครเพลงเนื่องในวาระครบร้อยปีวันสวรรคตของรัชกาลที่5 ซึ่งเราสองคนเคยร่วมกันทำละครเวทีเรื่อง "นิทราชาคริต" จากบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 มาแล้ว ในเรื่องนั้นผมทำบทและกำกับ อ.จารุณีทำดนตรีและเพลงร้อง และในฐานะที่เป็นชาวจุฬาฯมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรีก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสดี ที่ได้ทำในสิ่งที่เรารักและถนัดเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาญาณของพระองค์
ตอนแรกเริ่มจากการเป็นละครเพลงที่สำรวจมายาคติเรื่องแอนนากับสยาม ไม่ได้โต้แอนนา เลียวโนเวนส์นะแต่พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมเธอถึงต้องสร้างเรื่องสร้างตัว ตนใหม่ในนิยายจนถึงกับให้ภาพร้ายกาจกับสยามและ"คิงมงกุฎ" พอค้นไปๆก็พบว่าเพราะเธอมีปมเรื่องอัตลักษณ์และคุณค่าของตัวเองที่ต้องกลบเกลื่อนและสร้างใหม่
แต่"แอนนา"ที่เรารู้จักกันก็ยังไม่ใช่คนที่พูดถึงนี่ เพราะแอนนาผู้โด่งดังไปทั่วโลกและเป็นที่น่าหมั่นไส้ของคนไทยหลายคนนั้นคือ ตัวละครในละครเพลง The King & I ซึ่งสร้างจากนิยายเรื่อง Anna & the King of Siam ของมากาเร็ต แลนดอนต่างหาก นิยายของแลนดอนและมิวสิเคิลเพิ่มเติมและขยายความอะไรหลายอย่างที่เกินไปจากงานเขียนของแอนนาตัวจริงซึ่งก็เขียนให้หวือหวาน่าติดตามสำหรับผู้อ่านนิตยสารรายสัปดาห์อยู่แล้ว สรุปว่า เราเกลียดขี้หน้ายายแอนนาในนิยายและมิวสิเคิลแล้วพาลเหมาเอาว่าเป็นยายแอนนาตัวจริง นี่ล่ะ พลังของการสร้างภาพซ้ำๆ ของสื่อ ถึงจะรู้ว่าเป็นนิยาย แต่มันก็กลายเป็นจริงได้ในใจของหลายคน
ละครเรื่องนี้จึงสะท้อนประเด็นเรื่องการหลงอยู่กับมายาภาพด้วย ทั้งการสร้างภาพลักษณ์/ตัวตนและการตัดสินผู้อื่นจากมายาภาพ โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว หลายคนหลายกลุ่มในละครกดเหยียด เอาเปรียบ ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ ประณาม ลงโทษ และทำร้ายผู้อื่น เพื่อกลบเกลื่อนปมด้อยและยกชูความมั่นใจในตนเองขึ้นมา พฤติกรรมที่แต่ละคนทำนี้เป็นเหมือน"น้ำผึ้งหยดเดียว"หยดเล็กๆ ที่ค่อยๆลุกลามบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งร้าวลึก
ฟังดูเนื้อหาจริงจังหนักแน่น แต่ด้วยการเสนอเป็นมิวสิเคิลทำให้ดูง่ายและบันเทิง แถมยังไม่ยาวหลายชั่วโมง ละครมีสององก์รวมพักครึ่งยาวประมาณ1ชั่วโมง45นาที เอาแต่เนื้อๆเลย เพลงคือแอ็คชั่นของเรื่อง ไม่ใช่การร้องซ้ำสิ่งที่ตัวละครพูดหรือทำไปแล้ว
ทีมวิจัยเราเชื่อว่าในขณะที่มันสนุกสนาน ละครเพลงก็สามารถสื่อสารเสาระทั้งด้านความคิด ปัญญา และจิตใจได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่มหรสพหย่อนใจคลายอารมณ์เท่านั้น ภาพและเพลงในมิวสิเคิลทำให้เราสื่อสารกับผู้ชมได้ลึกขึ้น กว้างขึ้น และกระชับขึ้น
ทำไมถึงอยากนำเสนอเรื่อง "สยามมิสฉัน เดอะมิวสิเคิล" ในช่วงเวลานี้คะ
เหตุการณ์หลักของเรื่องเกิดขึ้นในที่ว่าราชการทูตสยามประจำกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ.2440 หรือ ร.ศ.116 ในคราวที่สมเด็จพระปิยะมหาราชเสด็จฯประพาสยุโรปครั้งแรกเพื่อทรงแสวงหา พันธมิตรจากประเทศในยุโรปและเจรจาทางการทูตกับประเทศที่สยามต้องเสียดินแดน ให้ ล่าสุดคือเสียลาวและเขมรให้ฝรั่งเศสเมื่อ 2436 หรือ ร.ศ. 112 ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงลอนดอน ได้ทรงมีพระบรมรานุญาตให้แอนนา เลียวโนเวนส์ อดีตพระอาจารย์เข้าเฝ้าฯ ทั้งๆที่แอนนาเขียนหนังสือสองเล่มที่ทำให้สยามและพระเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสีย ตัวละครหลักฝ่ายสยามสามคนซึ่งเป็นข้าราชการสถานทูต นักเรียนทุน และนายทหารประจำเรือพระที่นั่ง มีหน้าที่ต้องรับรองแหม่มแอนนาและครอบครัว พวกเขาก็ต้องเลือกแหละว่าจะทำยังไงในฐานะคนไทย
ทีนี้ถ้าเกิดคนไทยรักชาติสามคนนี้คิดไม่เหมือนกันแล้วขัดแย้งกันเองล่ะ จะเป็นยังไง แล้วถ้าเป็นคนไทยรักสบาย ไม่ได้คิดมาก อะไรๆก็"ไม่เป็นไร" จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มั้ย หรือถ้าเป็นพวกสุดโต่ง เห่ออุดมการณ์ซึ่ง..จริงหรือไม่-ใช่หรือมั่ว..ก็ไม่รู้ แต่เอาเป็นว่าหวังดีเพื่อส่วนรวมล่ะ
นอกจากเรื่องหลักของละครจะสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ทัศนคติของตัวละครเกี่ยวกับเหตุการณ์เสียดินแดน และกรณีเสนอเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ.103 ก็น่าจะเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในขณะนี้ของเราได้ชัดเจน เห็นจากตอนซ้อมนักแสดงเชื่อมโยงได้เป๊ะๆเลย จูนอิน(tune in)ไม่มีปัญหา แต่จบฉากแล้วต้องหาทางจูนเอ้าท์ (tune out)
ฟังดูการเมื้องการเมืองหรือเปล่า เราสนใจเรื่องบ้านเมืองมากกว่า พวกเราก็เป็นและสามารถแชร์ปัญหาและคำถามของตัวละครในเรื่องได้ทุกตัว บางทีอาจทำให้เราเข้าใจหรือยอมรับคนที่คิดไม่เหมือนกับเรามากขึ้นก็ได้
เนื่องจากเป็นละครที่กึ่งประวัติศาสตร์แล้ว เราจะทำความเข้าใจความคิดคนสมัยก่อนได้ยังไงคะ
เรียกว่าสร้างจากเหตุการณ์และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ดีกว่าจ้ะ ถึงเวลาจะห่างกันร้อยกว่าปีเป็นอย่างน้อย แต่ปัญหา คำถาม ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ต่างๆ ของคนไทยในเรื่องกับคนปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างกันหรอก แถมในบางกรณี มุมมองและการแสดงออกของคนสมัยก่อนอาจจะลุ่มลึกกว่าด้วยซ้ำ อย่างการวิเคราะห์ปัญหาเรื่องความมั่นคงของชาติเมื่อต้องเผชิญกับนักล่า อาณานิคม โดยคณะผู้กราบบังคมทูลเสนอเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นต้น
สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 อยู่ในช่วงการปฏิรูปประเทศสยาม ไม่ใช่แค่เพื่อเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าทันสมัยเท่านั้น แต่เพื่อรับมือกับเครือข่ายนักล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกซึ่งทั้งแก่ง แย่งและฮั้วกันเพื่อแบ่งสรรผลประโยชน์จากดินแดนและทรัพยากรของประเทศที่ด้อย กว่าทั้งในอัฟริกาและเอเชียด้วย แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่การต่อสู้กับภัยนอกประเทศซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยกำลังคน กำลังเงินและเล่ห์กลทางการเมือง แต่คือการสู้กับศึกภายในของเราเอง การเปลี่ยนแปลงระบบจัดการประเทศอย่างรวดเร็วเพื่อตั้งรับภัยที่คุกคามทำให้เกิดความขัดแย้งเชิงอำนาจ ศักดิ์ศรี และประโยชน์ของชนชั้นปกครองบางกลุ่ม ซ้ำร้ายในบรรดาผู้ที่รักและหวังดีต่อชาติซึ่งมีทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมและหัว ก้าวหน้าก็กลับมีความเห็นขัดแย้งกันเอง ทั้งเรื่องอุดมการณ์การเมืองและการปฏิรูประบบบริหารและสังคม
ช่วงค้นคว้ารีเสิร์ชเยอะมากว่าคนในยุคนั้นพูดกันยังไง เขียนอะไรกัน เพราะมันทำให้เราเข้าใจความคิดและมุมมองของคนในอดีตมากขึ้น โดยเฉพาะจดหมายเหตุของผู้ตามเสด็จฯ พระราชหัตถเลขาและพระราชโทรเลขและจนพระราชดำรัสระหว่างเสด็จฯประพาส พระราชนิพนธ์ พระราชาธิบาย และพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชหัตถเลขาตอบคณะผู้เสนอเปลี่ยนแปลงการปกครอง. พระราชาธิบายเรื่องความสามัคคี ซึ่งพระราชทานเพื่อ "แก้คาถาอามแผ่นดิน" หรือพูดง่ายๆคือเพื่ออธิบายความหมายของคติพจน์ภาษาบาลีที่อยู่บนตราแผ่นดิน อันก่อนที่จะเป็นตราครุฑพ่าห์ ที่ว่า "ความพร้อมเพรียงของผู้เป็นหมู่ จะทำให้ความเจริญบังเกิดความสำเร็จ" ตอนนี้ตรานี้มีโรงเรียนนายร้อยจปร. ใช้ แล้วก็เป็นตราหน้าหมวกตำรวจ
การกำกับละครที่เป็นมิวสิเคิลมีความยากง่ายในการกำกับอย่างไรบ้างคะ
กำกับไม่ยาก เพราะช่วยกันทำงานร่วมกับผู้กำกับอีกสองคน คือผู้กำกับดนตรีและผู้กำกับลีลา นักแสดงและทีมงานทุกคนตั้งใจทุ่มเทและน่ารักมาก จะยุ่งก็เรื่องเวลานี่ล่ะ บางคนติดงานบางคนติดเรียน นักแสดงเรามีทั้งนักร้อง ดีเจ พิธีกร มีทั้งเด็กจุฬาฯคณะอื่นและเด็กๆต่างสถาบัน แต่ทุกคนก็จัดคิวกันเต็มที่เพื่อทำงานนี้
ฝากอะไรถึงคนที่จะมาชมละครหน่อยค่ะ
"เรามาเรียนรู้จากอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และรู้ทันอนาคตกันเถอะครับ"
“สยามมิสฉัน เดอะมิวสิเคิล” จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม — 9 กันยายน 2555 (วันอังคาร — ศุกร์ รอบ 19.30 น. วันเสาร์รอบ 14.00 น. และ 19.30 น. และวันอาทิตย์รอบ 14.00 น.) ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล (ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร) คณะอักษรฯ จุฬาฯ (มีที่จอดรถภายในอาคาร หรือเดินเพียง 10 นาทีจากสถานีรถไฟฟ้าสยาม) บัตรราคา 500 บาท (200 บาท สำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกสถาบัน)
ติดต่อ:
dramaartschula1971@gmail.com
Facebook : Drama Arts Chula
ซื้อบัตรได้ที่ 0 2218 4802, 08 1559 7252 และที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาสยามค่ะ