กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญของประเทศญี่ปุ่น (JICA) จัดซ้อมแผนอพยพประชาชนจากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. 50 ณ บริเวณบ้านน้ำฮู ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย เพื่อศึกษาระบบแจ้งเตือนภัย และเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งเพิ่มมากขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น ด้านการช่วยเหลือภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ จังหวัดภูเก็ต อุทกภัย จังหวัดชุมพร และดินโคลนถล่ม ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีภูมิประเทศตั้งอยู่ในหุบเขา ส่งผลให้ในช่วงฤดูฝน ที่มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มได้ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบและเตรียมความพร้อมให้หน่วยปฏิบัติและประชาชนในพื้นที่ก็คือ การฝึกซ้อม การอพยพประชาชน จากพื้นที่เสี่ยงภัยและการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) จัดซ้อมแผนอพยพประชาชนจากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและ ดินถล่มในพื้นที่นำร่อง โดยจำลองสถานการณ์จริง ในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2550 บริเวณบ้านน้ำฮู ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย เพื่อเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาภัย อีกทั้งทดสอบระบบเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนชนิดแสดงค่าอัตโนมัติที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมอบให้แก่พื้นที่นำร่องของโครงการ รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการอพยพหนีภัยในเบื้องต้น ให้กับประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเพิ่มพูนทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถจัดการกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลด ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมหาศาล