นักวิชาการต่างประเทศมองว่า การใช้กำลังทหารของรัสเซียเพื่อทำสงครามกับจอร์เจียนั้น อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ตอกย้ำจีนให้ควบคุมกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของชนกลุ่มน้อยอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพราะการปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ปกครองกันเองอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เหมือนกับที่จอร์เจียได้ออกมาเคลื่อนไหวจนเป็นอิสระ หลังจากที่เกิดการประท้วงล้มล้างรัฐบาลที่เป็นฝ่ายของรัสเซียเมื่อปี 2546
โรเบิร์ต รอส ศาสตราจารย์ของบอสตัน คอลเลจ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านจีนและเอเชียตะวันออก กล่าวว่า ในสายตาของจีนแล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างจอร์เจียและรัสเซียเป็นผลพวงมาจากการที่ผู้นำของรัสเซียไม่สามารถควบคุมประเทศได้ และยังปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆเข้าครอบงำพื้นที่ของตนเอง หลังจากที่สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงเมื่อปี 2534 ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นบทเรียนสำหรับจีนที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่า จีนสามารถควบคุมชนกลุ่มน้อยได้
หลังจากที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดลง สหรัฐก็มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ จีนเองได้ระมัดระวังเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนของสหรัฐต่อการปฏิวัติของอดีตรัฐในสังกัดของสหภาพโซเวียต เช่น การปฏิวัติของจอร์เจียเมื่อปี 2546 การปฏิวัติของยูเครนเมื่อปี 2547-2548 และการปฎิวัติทิวลิปของคากิสถานเมื่อปี 2548
ที่ผ่านมา จีนตกเป็นเป้าสายตาของนานาชาติจากการใช้กำลังกวาดล้างในทิเบตและซินเกียง ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มก่อการร้าย โดยเหตุการณ์โจมตีและวางระเบิดในซินเกียงเมื่อช่วงต้นเดือนก็ทำให้ตำรวจเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 16 ราย
หวง จิง นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกของเนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ สิงคโปร์ กล่าวว่า หากการปฏิวัติดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในรัสเซีย ต่อมาก็เอเชียกลาง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ในที่สุดกระแสการปกิวัติจะลุกลามมายังจีน ซึ่งจีนเป็นประเทศสุดท้ายประเทศเดียวที่ยังคงยืนหยัดต่อต้านการแยกดินแดน บลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--