กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจ “พฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพและปริมณฑล”
ทางสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาได้สำรวจความรับรู้เกี่ยวกับราคาและการบริโภคสลากกินแบ่งรัฐบาลของคนกรุงเทพฯและปริมณฑล สรุปว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,137 คน สามารถสรุปผลการสำรวจได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ52.15 เป็นเพศหญิง ขณะที่เป็นเพศชายร้อยละ 47.85 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี และ 35 ถึง 44 ปี คิดเป็นร้อยละ 28.94 และร้อยละ 25.77 ตามลำดับ นอกจานี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.04 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และสำหรับอาชีพปัจจุบันนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.38 เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.21 เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ
ในด้านพฤติกรรมการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลประมาณ 6 งวดจากทั้งหมด 12 งวดในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 28.32 ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.84 ที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลครบทั้ง 12 งวด และร้อยละ 23.66 ที่ซื้อมากกว่า 6 งวดแต่ไม่ถึง 12 งวด โดยมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.03 ที่ซื้อน้อยกว่า 6 งวด และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.15 ที่ไม่เคยซื้อเลยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ ต้องการเสี่ยงโชค คิดเป็นร้อยละ 81.74 สนุก/ตื่นเต้น คิดเป็นร้อยละ 80.04 ต้องการหารายได้เพิ่ม คิดเป็นร้อยละ 78.45 จำนวนเงินรางวัลน่าสนใจ คิดเป็นร้อยละ 75.69 และได้เลขเด็ดมา คิดเป็นร้อยละ 72.40
ในด้านความคิดเห็นต่อการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.04 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันนี้ราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จำหน่ายอยู่สูงเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อใบที่ตนเองจะซื้อโดยไม่มีความรู้สึกว่าแพงเกินไปควรมีราคาไม่เกิน 90 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40.72 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.24 มีความคิดเห็นว่าควรมีราคาไม่เกิน 80 บาท
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.02 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มปริมาณสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ช่วยให้ราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อใบลดลงได้จริง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 57.87 ไม่เชื่อว่าปัญหาราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลแพงจะได้รับการแก้ไขให้หมดไปได้จริง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างถึงประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.25 มีความคิดเห็นว่าราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สูงไม่ส่งผลให้คนไทยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลน้อยลง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.30 มีความคิดเห็นว่าการลดราคาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้ช่วยให้การเล่น “หวยใต้ดิน” ลดลงได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดอัตราส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับราคาจำหน่ายของสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ชัดเจนตายตัวและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดซึ่งคิดเป็นร้อยละ 73.79