เทคโนโลยีคัดกรองตัวอ่อน ความหวังใหม่ของคนอยากมีลูก (ที่ปลอดโรคติดต่อทางพันธุกรรม)

ข่าวทั่วไป Friday May 22, 2009 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--มายแบรนด์ เอเจนซี่ การที่คู่แต่งงานจะมีลูกสักคนว่ายากแล้ว แต่การที่จะได้ลูกที่เกิดมาอวัยวะครบ 32 สมบูรณ์แข็งแรง และปลอดจากโรคติดต่อทางพันธุกรรมนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากกว่า..... แต่สิ่งที่ดูว่ายากนั้น ด้วยเทคโนโลยีและวิวัฒนาการสมัยใหม่ของการคัดกรองตัวอ่อนที่สามารถคัดเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรง และปลอดโรคติดต่อทางพันธุกรรม ทำให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติแล้วคัดเลือกตัวอ่อนที่ปลอดโรคทางพันธุกรรมนำกลับเข้าไปใส่เข้าไปในมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ เทคโนโลยีที่ว่านี้คือเทคโนโลยี PGD-PCR นพ.สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์ สูตินรีแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และวินิจฉัยพันธุกรรม ตัวอ่อน ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที อธิบายว่า เทคโนโลยีพีจีดี (PGD-Preimplantation Genetic Diagnosis) คือการวินิจฉัยความผิดปกติของสารพันธุกรรมของตัวอ่อน ซึ่งในระดับโครโมโซมจะตรวจด้วยเทคนิคการย้อมโครโมโซมด้วยสีเรืองแสง(FISH) และ พีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction) สำหรับการตรวจคัดกรองทางพันธุกรรมในเชิงลึกระดับยีน ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นนวัตรกรรมใหม่ทางการแพทย์ที่เรียกได้ว่าเป็นทางเลือกใหม่สำหรับครอบครัว คู่รัก ที่อาจจะเป็นพาหะของโรคพันธุกรรม แล้วไม่กล้าเสี่ยงที่จะมีลูก สามารถมีลูกได้ และมั่นใจได้ว่าทารกจะไม่ได้รับความผิดปกติทางพันธุกรรมจากพ่อ และ แม่ เช่น ธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย หรือ มะเร็งทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นต้น สูตินรีแพทย์ เปิดเผยว่า การตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน ซึ่งในทางพันธุกรรมมี 2 ระดับ คือระดับโครโมโซม และระดับยีน โดยยีนถือเป็นส่วนย่อยของโครโมโซม โรคบางโรคเกิดจากโครโมโซมที่ผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม คือความผิดปกติของโครโมโซมที่เกินมาทั้งแท่ง ซึ่งเป็นการตรวจเพียงแค่ระดับโครโมโซม แต่โรคบางโรค เช่น ธาลัสเซีเมีย ฮีโมฟีเลีย หรือมะเร็งทางพันธุกรรมบางชนิด จะเกิดขึ้นในระดับยีนที่อยู่ลึกเข้าไปอีก การตรวจวินิจฉัยจะต้องใช้วิธีการตรวจแบบ PGD-PCR นพ.สมเจตน์ กล่าวว่า ในการทำพีจีดีนั้นเมื่อสามารถคัดเลือกตัวอ่อนที่ปกติแล้วนำตัวอ่อนกลับคืนสู่มดลูกให้ฝังตัวเกิดเป็นการตั้งครรภ์ โดยทารกที่เกิดมานั้นสามารถมั่นใจได้ว่าไม่มีความผิดปกติของโครโมโซม เพราะได้ทำการตรวจก่อนแล้ว แนะนำให้ทำในรายที่มีภาวะเสี่ยงต่อการที่ทารกจะเกิดมามีความผิดปกติ เช่น ในคู่สมรสที่เป็นพาหะของโรคพันธุกรรม ในรายที่มารดาอายุมากหรือเคยมีบุตรเป็นดาวน์ซินโดรมมาก่อนก็จะทำการตรวจโครโมโซมคู่ที่ 21 ให้ หากตัวอ่อนมีโครโมโซมปกติจึงจะใส่กลับคืนเข้าไปในมดลูกให้ตั้งครรภ์ต่อไป หรือมารดาที่เป็นพาหะของโรคเลือดออกไม่หยุดซึ่งถ้าให้กำเนิดลูกชายจะต้องเป็นโรคนี้ จึงต้องทำการคัดเลือกเพศตัวอ่อนให้เป็นลูกสาวก่อน แล้วจึงย้ายตัวอ่อนไปใส่ไว้ในมดลูก เนื่องจากหากทารกเป็นเพศหญิงจะไม่เป็นโรคนี้ เป็นต้น สูตินรีแพทย์อธิบายขั้นตอนและวิธีการตรวจและคัดกรองตัวอ่อน ว่าฝ่ายภรรยาจะต้องได้รับฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่ที่สมบูรณ์โดยปกติจะได้ ไข่ประมาณ 10-20 ใบ หลังจากนั้นจะนำไข่ออกมาโดยการเจาะดูดไข่ผ่านทางช่องคลอด แล้วนำมาทำการปฏิสนธิกับอสุจิของสามีภายนอกร่างกาย แล้วเลี้ยงตัวอ่อนในห้องทดลองประมาณ 5 วันจนได้ตัวอ่อนระยะ บลาสโตซิสท์ ซึ่งมีจำนวนเซลล์มากกว่า 100 เซลล์ จากนั้นจะดูดเซลล์รอบนอกของตัวอ่อนออกมา 4-5 เซลล์เพื่อทำการตรวจความผิดปกติของยีนด้วย เทคนิคการเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนของดีเอ็นเอภายในหลอดทดลองให้มีปริมาณมากเพียงพอ (PCR) เพื่อที่จะตรวจสอบความผิดปกติของตัวอ่อนดังกล่าวได้ หลังจากนั้นจึงใส่ตัวอ่อนที่ไม่มีความผิดปกติของสารพันธุกรรมกลับคืนสู่โพรงมดลูก เพื่อให้ไปฝังตัวเกิดเป็นการตั้งครรภ์ต่อไป “เดิมทีเราก็ไม่รู้ว่าเด็กจะมีโอกาสเป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ จนคลอดออกมา หรือมีเพียงแค่เทคโนโลยีเบื้องต้นในการตรวจหาความผิดปกติตอนตั้งครรภ์ได้ 4-5 เดือน แต่เทคโนโลยีการตรวจเช็คของเราก็คือการเข้าไปวินิจฉัยและตรวจตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนก่อนที่จะฝังตัว เราจะรู้ได้เลยว่าตัวอ่อนจะเป็นโรคหรือไม่เป็น เราสามารถเลือกตัวอ่อนที่ไม่เป็นโรคใส่เข้าไปในมดลูกเด็กที่คลอดออกมาก็จะไม่เป็นโรค ส่วนตัวอ่อนที่เป็นโรค เราก็จะไม่นำใส่เข้าไป แต่ถ้าถามว่าเราทำให้เด็กไม่มีโรคได้หรือเปล่า อันนั้นไม่ใช่ เราเพียงแค่ตรวจตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิว่ามีโรคหรือไม่และหลีกเลี่ยงการใส่ตัวอ่อนที่มีโรคกลับเข้าสู่โพรงมดลูก บางคนมาถามว่าอยากมีลูกที่ตาสีฟ้า ผมบรอนซ์ สูงต่ำ ดำขาว ตรงนี้ทำได้ไหม เราต้องบอกก่อนเลยว่า เทคโนโลยีการทำพีจีดี และพีซีอาร์ ไม่สามารถคัดเลือกตัวอ่อนตรงนี้ได้” นพ.สมเจตน์ กล่าว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวทิ้งท้ายว่า การคัดกรองตัวอ่อนโดยการตรวจหาความผิดปกติของตัวอ่อนโดยพีจีดีนั้นสามารถลดอัตราการเกิดของทารกที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมที่อาจเกิดมาได้รับพันธุกรรมที่ผิดปกติจากพ่อและแม่ เช่น โรคธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย และโรคมะเร็งทางพันธุกรรมบางชนิดอย่างได้ผล ที่ผ่านมามีคู่สมรสทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีนี้ และประสบความสำเร็จไปแล้วหลายราย ศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และวินิจฉัยพันธุกรรม ตัวอ่อน ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างซิดนีย์ ไอ วี เอฟ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสถาบันช่วยการเจริญพันธุ์ระดับแนวหน้าของออสเตรเลีย กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากชาวไทย ซึ่งมีพันธะสัญญาที่มั่นคงในการทำวิจัย ศึกษาค้นคว้า ที่ถือเป็นผู้นำด้านการตรวจวินิจฉัยด้านพันธุกรรมของตัวอ่อน ซึ่งถ้าหากครอบครัว หรือคู่สมรสคู่ไหนที่กำลังวางแผนการมีลูก และอยากทราบว่าตนเองและคู่สมรสเป็นพาหะนำโรคหรือไม่ ถ้าหากพบว่ามีภาวะความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับโรคทางพันธุกรรม แต่อยากมีลูกมาก การคัดกรองตัวอ่อนถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ทารกเกิดมาปลอดโรคติดต่อทางพันธุกรรมได้ สามารถปรึกษาแพทย์และทีมงานผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่โทร 02-255-4848 หรือ www.thaisuperiorart.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 028643900 บริษัท มายแบรนด์ เอเจนซี่ จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ